วัดพระธาตุแม่เจดีย์ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
วัดพระธาตุแม่เจดีย์ นานมาแล้วมีพระธาตุเก่าแก่องค์หนึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยแม่เจดีย์ ผู้เฒ่าผู้แก่และชาวบ้านพากันเรียกขานต่อๆกันมาว่า “พระธาตุแม่เจดีย์” ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ( ตรงกับเดือน 8 ของชาวล้านนา) หรือวันวิสาขบูชา ชาวบ้านจะมีประเพณี “ขึ้นพระธาตุ” คือการเดินขึ้นเขาเพื่อไปกราบไหว้บูชาองค์พระธาตุ
สานต่อมหาศรัทธา
พระธาตุแม่เจดีย์ถูกปล่อยให้ทิ้งร้างไปตามกาลเวลา แต่ก็ไม่ได้ทำให้มหาศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาลดน้อยลง ยังคงปรากฏบุคคลผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการบูรณะปฏิสังขรณ์สืบต่อมา กล่าวคือ
การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 1 โดยชาวเงี้ยว ชื่อ “ส่างหลวง” ไม่ทราบเวลาแน่ชัด
การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 2 โดยชาวพม่า (หรือชาวม่านในภาษาล้านนา) ชื่อ “หม่องส่วยโง่ง” ไม่ทราบเวลาแน่ชัด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 ครูบาศรีวิชัยพระอริยสงฆ์ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญแห่งล้านนาในระหว่างเดินทางไปบูรณะองค์พระธาตุดอยตุง ท่านได้แวะขึ้นดอยแม่เจดีย์เพื่อสักการะองค์พระธาตุแม่เจดีย์ และได้คาดการณ์เกี่ยวกับพระธาตุองค์นี้ไว้ว่า ภายหน้าจะมีผู้มีบุญมาบูรณะปฏิสังขรณ์จนกลับมาประดิษฐานเป็นการถาวร เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ท่านจึงไม่ได้ทำการบูรณะองค์พระธาตุแม่เจดีย์
แต่ในครั้งนั้นท่านใดพบซากอิฐหักอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ อยู่สูงจากพระธาตุแม่เจดีย์ขึ้นไปบนเขา ด้วยญาณหยั่งรู้ว่าเป็นซากสถูปเก่าแก่ศักดิ์สิทธิ์ จึงนำสานุศิษย์ที่ติดตามมาและพุทธศาสนิกชนชาวเวียงป่าเป้าช่วยกันสร้างเจดีย์ทรงสถูปสี่เหลี่ยมครอบซากสถูปเก่าแก่องค์นี้ไว้ เรียกว่า เจดีย์ศรีวิชัย ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนที่ชาวบ้านนำมาถวายเอาไว้เป็นจำนวนมากใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีจึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2470
การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งที่ 3 โดย “พระครูไพบูลย์พัฒนาภิรักษ์” เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแม่เจดีย์เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุราว 30 ปี และได้มานั่งวิปัสสนาบนยอดดอยแห่งนี้ จึงเห็นว่าพระธาตุแม่เจดีย์มีความทรุดโทรม
ท่านจึงได้ตั้งปณิธานไว้ 3 ข้อว่า…
- จะทำการบูรณะพระเจดีย์ทั้งสององค์ (หมายถึงพระธาตุแม่เจดีย์และเจดีย์ศรีวิชัยที่ครูบาศรีวิชัยได้บูรณะไว้) ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงและสร้างเสนาสนะ น้ำ ไฟ ถนนหนทางให้สะดวกสำหรับชาวบ้านที่จะมาสักการะพระธาตุ
- จะให้วัดพระธาตุแม่เจดีย์เป็นศูนย์กลางการศึกษาแบบประยุกต์กับศึกษาธิการ กับป่าไม้ กับอุทยาน และจะอบรมเยาวชนด้วยศีลธรรมและสิ่งแวดล้อม
- จะรักษาพื้นที่ป่าโดยรอบองค์พระธาตุแม่เจดีย์ให้ได้มากที่สุด
การค้นพบพระพุทธรูปทองคำ พระเครื่อง และโบราณวัตถุ
พระครูไพบูลย์พัฒนาภิรักษ์ได้เล่าเรื่องถึงการขุดพบพระพุทธรูปทองคำว่า ในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ขณะที่รถแบคโฮทำภารกิจปรับพื้นที่ตัดถนนบริเวณวัดน้อย (วัดเก่าแก่ในบริเวณวัดพระธาตุแม่เจดีย์) ไปยังโครงการบ้านชุ่มเมืองเย็น เพื่อที่จะสร้างถังประปาไว้ในโครงการ รถแบคโฮได้สัมผัสกับวัตถุบางอย่างเมื่อหยุดรถและคนงานเข้าไปสำรวจดูใกล้ๆจึงพบว่าเป็นตลับสำริดซึ่งบรรจุพระธาตุและข้าวของเครื่องใช้โบราณจำนวนหนึ่ง
ในคืนนั้นเอง พระครูไพบูลย์พัฒนาภิรักษ์ก็ได้นิมิตถึงพระรูปหนึ่ง ชื่อครูบาแสงมา ท่านเล่าถึงความเป็นมาของวัดร้างแห่งนี้ว่าเดิมทีท่านมีเชื้อสายเป็นเจ้าเมืองลัวะ ได้อพยพจากเชียงแสนมาอยู่ที่นี่ และในบริเวณนี้ยังมีวัดโดยรอบอีก 20 กว่าวัด ต่อมาเกิดสงคราม จึงได้ให้วัดต่างๆนำพระพุทธรูป วัตถุโบราณ และของมีค่ามาฟังไว้ ณ ที่แห่งนี้ พร้อมทั้งได้บอกจุดที่ฝังสมบัติไว้
พอตื่นขึ้นตอนประมาณตีหนึ่ง จึงได้ถือจอบและไฟฉายไปบริเวณวัดน้อยเพียงลำพังมองเห็นกำไรหยกขาวหักอยู่ตรงจุดตามที่ครูบาแสงมาบอกไว้ เมื่อขุดลงไปก็พบแนวอิฐ พอขุดลึกลงไปอีกจึงพบพระพุทธรูปทองคำสิ่งหนึ่งและสิ่งสาม เครื่องสำริด เมื่อเปิดดูจึงพบสร้อยสังวาลย์ทองคำ กำไลหยกขาว กำไลสำริดต่างๆ พร้อมทั้งพระเครื่องและโบราณวัตถุอีกจำนวนหนึ่ง
พระครูไพบูลย์พัฒนาภิรักษ์ ยังทิ้งท้ายไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า
ไม่ต้องจำชื่อหลวงพ่อ
แต่ขอให้จำชื่อวัดและช่วยกันค้ำจุนพระศาสนา
พระครูฯ…ผู้พลิกฟื้นผืนป่า
พิกัดแผนที่ วัดพระธาตุแม่เจดีย์ ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า เชียงราย 57260
วังมัจฉา
: